วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2555

ค่าวธรรมหงส์ผาคำ


ค่าวธรรมหงส์ผาคำ
ฉบับวัดสันบัวบก อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา
ผูกสอง
หน้า 1
บรรทัดที่ 1 นโมตสสถุ สาธโว ดูลา สบุริสทังหลาย ทังยิงชายแลนักบราชเจ้า ชุงจักโสตาบราสาทหุมดาฟังยังนิยายอันนี้จักกล่าวจาด้วยเจ้าขตติยะโพธิสัตเจ้านำเอาหมู่ริ
บรรทัดที่ 2 พลสกุลลเสนาอามาด 4 จำพวกเข้าสู่ป่าไม้หิมพาน ตามราชกุมาร 6 ตนพี่น้องค็เอากันเข้าไพด้วยลำดับ หนทางไพเข้าแกล่ป่าไม้หนามหนา ฝูงหมู่สัตน้อยใหญ่อันอยู่
บรรทัดที่ 3 ไกลริมทางเขาค็ได้ยินเสียงช้างทังหลายมายินตัวค็เอาตนตัวหลบหลีกหนีไพอยู่ดงเขียวเถียนถ้ำทุ้งค่ำดงรี ฝูงสัตหลายมีมากเสียหมีหัวเป็นชุมอยู่บรสุมในปล่า
บรรทัดที่ 4 หกเต้นรำไพมา ราชสีตัวใหญ่อยู่ขางไขวในดงช้างงวงงาแลหมู่แรสเทียวสอดแวสตีนดอย หมู่นกน้อยหลายเป็นหมู่อยู่เป็นคู่ขานขันกินตักคัน หอมหืนสตตบุดชื่นเชย
บรรทัดที่ 5 ใจแม่เผิ้งหลายตอมกิ่งสาขา ยิงหลายกิ่งก้านด้านป่าไม้หิมพานดอกไม้เผยคลีมีทุกที่เหลือตาเกสสนาหอมทุกกลำดอกไม้เรื่อเหลืองไรในไฟสนเถียรถ้องทุกเทสท้องผู้เข้าอยู่ทาง
หน้า 2
บรรทัดที่ 1 เอาเหนบทัดโทง ตามใจไผทุกใหญ่น้อยฅนรามทุกวันยามม่วนต้องในแห่งห้อมหนทาง เมื่อนั้น ปานภิกขเว ดูรา ภิกขุทังหลายตนสักสาดอันมีสิลชาสใสดีจุงตั้งโสตาถวารวิถีจำหื้อหมั้นแต่ชาสนั้นมา
บรรทัดที่ 2 เมินนานคูพระตถาคตมีสมพานไปแก่ยังผดอวายหน้าทวนเทียวไพอยู่ในวัตตสงสานได้เกิฎเป็นทุขติตกุมารหนุ่มเหน้าเจ้าค็ขี่ยังนกหงผาฅำตัวนั้นไพด้วย
บรรทัดที่ 3 ลวงบลหนอากาสไพก่อนทั้งราชบุตตทั้ง 6 ตนฅลค็มีวันนั้น แล โยธา 4 จำพวกหากแวส ล้อมแหนแฮ่ อ้อมตามหลังค็ลำดับไพด้วยครัวทานบ่ยั้งจงไปรอดข้างฝั่ง
บรรทัดที่ 4 น้ำสมุทรสคร หันยังฟองน้ำไหลพุมเพิกไพมาควรฟึกสเพิงตัวมากนัก เมื่อนั้นโพธิสตเจ้าจุ่งจักจาเถิงราชบุตทั้ง 6 ตนแลเสนาอามาสทังหลายว่าบตนี้หนทางอันจัก
บรรทัดที่ 5 ไพพายหน้าค็บ่มีแล้วแลสูเจ้าทังหลายบ่อาดจักไพเพื่อข้ามน้ำนี้ได้จุ่งจักเอากันตั้งทัพยั้งอยู่ที่นี่ถ้าข้าเทอะข้าจักไพผู้เดียวเซาะหาย่านายมาหื้อได้ชแล คันว่าหาบ่ได้ข้าค็บ่จักคืนมาด้วย
                                                                        ผู้ปริวรรต   พรพิชา

คุณค่าของนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง


คุณค่าของนิราศท่าดินแดง
๑.   คุณค่าทางอักษรศาสตร์
นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดงเป็นนิราศเรื่องแรกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์และเชื่อว่า
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระราชนิพนธ์เองทั้งหมดโดยไม่มีกวีผู้ใดแต่งร่วม เป็นนิราศที่ใช้ถ้อยคำกะทัดรัด เข้าใจง่าย
๒. คุณค่าทางประวัติศาสตร์
นิราศท่าดินแดง เป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น ดังนั้น วรรณกรรมเรื่องนี้ จึงเป็นหลักฐานทางประวัติและเป็นหลักฐานชั้นต้น เพราะผู้แต่งคือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น โดยตรง จึงเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้
นอกจากได้รู้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ว่ามีพม่าเข้ามารุกรานไทย โดยมาตั้งทัพที่ท่าดินแดง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงนำทัพไปต้านพม่าด้วยพระองค์เอง แล้วยังรู้เรื่องการจัดเตรียมทัพที่มีทั้งเดินทางทางเรือ เดินทางทางบก ประกอบด้วยช้าง ม้า คนเดินเท้า ทหารที่มารบนั้นล้วนแต่เป็นทหารอาสา ดังพระราชนิพนธ์บทที่กล่าวถึงการจัดกระบวนทัพที่ปากแพรก ซึ่งเป็นค่ายใหญ่ที่ชุมนุมพล ระดมไพร่พลมาเข้าทัพ ซึ่งคงจะมีผู้อาสารบมาก เพราะก่อนถึงปากแพรกได้หยุดทัพที่บ้านวังลาด ก็มีผู้มาขออาสารบจำนวนมาก ดังนี้
วังศาลาท่าลาด
“ก็ลุถึงวังศาลาท่าลาด                      ชายหาดทรายแดงดังแกล้งสรร
จึงประทับแรมรั้งยังที่นั้น                              พอพักพวกพลขันธ์ให้สำราญ
พรั่งพร้อมล้อมวงเป็นหมู่หมวด           ชาวมหาดตำรวจแลทวยหาญ
เฝ้าแหนแน่นนันต์กราบกราน              นุ่งห่มสะคราญจำเริญตา
ต่างว่าจะเข้าโหมหักศึก                    ห้าวฮึกขอขันอาสา
ไม่คิดกายขอถวายชีวา                      พร้อมหน้าถ้วนทั่วทุกตัวไป”
ปากแพรก
“ถึงปากแพรกซึ่งเป็นที่ประชุมพล       พร้อมพหลพลนิกรน้อยใหญ่
ค่ายคูเขื่อนขันธ์ทั้งนั้นไซร้                 สารพัดแต่งไว้ทุกประการ
จึงรีบรัดจัดโดยกระบวนทัพ                สรรพด้วยพยุหะทวยหาญ
ทุกหมู่หมวดตรวจกันไว้พร้อมการ        ครั้นได้ศุภวารเวลา
ให้ยกขึ้นตามทางไทรโยคสถาน           ทั้งบกเรือล้วนทหารอาสา
จะสังหารอริราชพาลา                       อันสถิตอยู่ยังท่าดินแดง”
          การเดินทางจากปากแพรกไปจนถึงไทรโยคก็พบกับเกาะแก่งเรือเดินทางต่อไม่ได้จึงเปลี่ยนไปเดินทางทางบกทั้งหมดจนถึงด่านท่าขนุนน ซึ่งเป็น ๑ ใน ๗ หัวเมืองมอญเมืองหน้าด่านของไทยก็ตั้งค่ายที่นั่น ส่วนพม่าอยู่ที่ท่าดินแดงไม่ไกลกัน เพราะพระองค์ได้บรรยายสภาพค่ายพม่าว่าแต่งค่ายเหมือนเป็นเมือง มีทั้งพ่อค้ามาขายของ มีร้านค้า กระท่อม ที่เก็บเสบียงอาหาร ด้านหลังค่ายยังสร้างสะพานตามลำน้ำ และตามระยะทางทุกๆร้อยเส้นจากค่ายท่าดินแดงถึงค่ายอีก 2 ค่ายจะมียุ้งฉางเก็บเสบียงอาหารมีกองทหารคอยดูแล การตบแต่งค่ายมีทั้งป้อม คู ประตู หอรบ ขวากหนามป้องกันอย่างเต็มที่
การตบแต่งค่ายพม่า
“ทัพพม่าอยู่ยังท่าดินแดง       แต่งค่ายรายไว้เป็นถ้วนถี่
ทั้งเสบียงอาหารสารพันมี      ดังสร้างสรรค์ธานีทุกประการ
มีทั้งพ่อค้ามาขาย                 ร้านรายกระท่อมพลทุกสถาน
ด้านหลังท่าทางวางตะพาน     ตามละหานห้วยน้ำทุกตำบล
ร้อยเส้นมีฉางระหว่างค่าย      ถ่ายเสบียงมาไว้ทุกแห่งหน
แล้วแต่งกองร้อยอยู่คอยคน   จนตำบลสามสบครบครัน
อันค่ายคูประตูหอรบ             ตบแต่งสารพัดเป็นที่มั่น
          ทั้งขวากหนามเขื่อนคูป้องกัน เป็นชั้นชั้นอันดับมากมาย”
          รัชกาลที่ ๑ ให้ทหารเข้าตีค่ายพม่าทำให้รู้ว่านอกจากทหารไทยแล้วยังมีทหารมอญ ลาว เขมร ร่มอยู่ในกองทัพด้วย ซึ่งอาจเป็นพวกที่ถูกเกณฑ์มาจากเมืองประเทศราช  ฝ่ายไทยโจมตีค่ายพม่าอยู่ ๓ วัน ค่ายพม่าก็แตกพม่าทิ้งค่ายหลบหนี ไทยตามตีต่อจนถึงลำน้ำแม่กษัตริ์ซึ่งเป็นที่ตั้งทัพหลวงพม่าซึ่งก็ได้หลบหนีไม่ต่อสู้ไทยติดตามฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นอันมาก
“ก็ถึงด่านท่าขนุนโดยหมาย      ให้ตั้งค่ายตามเชิงศิขร
แล้วรีบเร่งพหลพลนิกร                     ทั้งลาวมอญเขมรไทยเข้าโจมตี”
“ให้ทหารเข้าหักโหมโรมรัน      สามวันพวกพม่าก็พังพ่าย
แตกยับกระจัดพลัดพราย        ทั้งค่ายคอยน้อยใหญ่ไม่ต่อดี
ให้ติดตามไปจนแม่กษัตร         เหล่าพม่ารีบรัดลัดหนี
บ้างก็ตายก่ายกองในปัถพี        ด้วยเดชะบารมีที่ทำมา”
          ก่อนจบพระราชนิพนธ์เรื่องนี้พระองค์ได้แสดงปณิธานไว้ ดังนี้
“ตั้งใจจะอุปถัมภก               ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา       รักษาประชาชนแลมนตรี”
2.คุณค่าทางวัฒนธรรม
          นิราศเรื่องนี้ให้คุณค่าทางวัฒนธรรมด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อเช่น
                    2.1 ธรรมเนียมที่กษัตริย์คือผู้นำทัพ
                    2.2 ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม
                              ความเชื่อเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการยกทัพ แม้ว่าตอนออกจากกรุงเทพจะไม่ได้กล่าวถึงก็ตามแต่คงจะมีอยู่เพราะนิสัยคนไทยจะไม่ทำการใหญ่โดยไม่ดูฤกษ์ยาม แต่จะกล่าวถึงวันเวลาที่ยกทัพออกจากปากแพรกซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมไพร่พลเป็นทัพใหญ่แล้วเริ่มเคลื่อนทัพในวันแรมเก้าค่ำเดือนสามย่ำรุ่งสี่บาท ดังความว่า
“ครั้นเดือนสามวันแรมเก้าค่ำ                     ย่ำรุ่งสี่บาทอรุณแสง
จึงให้ยกพหลรณแรง                        ล้วนกำแหงหาญเหี้ยมสงครามครัน
ไปโดยพยุหบาตรรัถยา                      พลนาวาตามไปเป็นหลั่นหลั่น
สะพรึบพร้อมหน้าหลังดั้งกัน               โห่สนั่นสะเทือนท้องนทีธาร”
2.3 ความเชื่อเรื่องการผ่าน “โขลนทวาร” หรือ ประตูโขลน
                        นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดงกล่าวถึง “โขลนทวาร” ไว้ดังนี้
“ครั้นถึงโขลนทวารยิ่งลานแล            ให้หวาดแหวอารมณ์ดังจะล้มไข้
จนลุล่องคลองชลามหาชัย                 ย่านไกลสุดสายนัยน์ตาแล”
การผ่านโขลนทวาร คือพิธีไสยศาสตร์บำรุงขวัญทหารก่อนที่จะออกสงคราม ทำเป็นประตูป่า ซุ้มประตูประดับด้วยกิ่งไม้สดๆให้ทหารในกองทัพลอด มีพราหมณ์คู่หนึ่งนั่งบนร้านสูงสองข้างประตู ทำพิธีสวดพระเวท ประพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่กองทัพ พิธีนี้ต่อมาได้มีพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ามาด้วย โดยพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้าชนะมารแล้วประพรมน้ำมนต์แก่ ทหารที่ลอดซุ้มประตูเมื่อเสร็จศึกสงครามแล้ว ต้องผ่าโขลนทวาร อีกครั้ง เพื่อกันเสนียดจัญไร แก้กันภูตผีปีศาจที่อาจติดตามมาจากสนามรบเป็นพิธีการที่บำรุงขวัญทหารผ่านศึกไม่ให้เสียขวัญจากการสงครามนั่นเอง
๒.   คุณค่าทางศาสนา
พระราชปณิธานในการปกครองบ้านเมืองและทำนุบำรุงศาสนา
“ตั้งใจจะอุปถัมภก               ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา       รักษาประชาชนแลมนตรี”

สรุป
         นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง แม้จะเป็นนิราศสั้นๆ แต่ก็แต่งตามขนบการแต่งนิราศได้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น บทรำพึงรำพันถึงนางผู้เป็นที่รัก บทชมธรรมชาติ รวมทั้งการใช้กวีโวหาร โวหารภาพพจน์ต่างๆ นอกจากนี้ยังให้คุณค่าทั้งด้านอักษรศาสตร์ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี และคุณค่าที่มากที่สุดของนิราศเรื่องนี้คือ คุณค่าด้านประวัติศาสตร์ เพราะถือได้ว่านิราศเรื่องนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชั้นต้นอีกชิ้นหนึ่ง

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555